03.12.65
 
สมาคมประชาสัมพันธ์ไทย ร่วมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิวิพากษ์งานวิจัย “กลยุทธ์การสื่อสารอัตลักษณ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารสามในจังหวัดชายแดนใต้”
 
        ดร.พจน์ ใจชาญสุขกิจ นายกสมาคมประชาสัมพันธ์ไทย ร่วมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิวิพากษ์และเสนอแนะ การจัดทำวิจัย ระดับปริญญาเอก เรื่อง “กลยุทธ์การสื่อสารอัตลักษณ์อาหารลังกาสุกะเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารสามจังหวัดชายแดนใต้” ร่วมกับ ศ.ดร.นธกฤต วันต๊ะเมล์, ศ.ดร.ไพโรจน์ วิไลนุช, รศ.ดร.จันทิมา เขียวแก้ว และอีกหลายท่าน รวมทั้งนักวิชาการ ผู้นำชุมชนในท้องถิ่น ที่ร่วมเข้าประชุมผ่านระบบออนไลน์มาจากสามจังหวัดชายแดนใต้ ณ ห้องประชุมสภา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย



        งานวิจัย เรื่อง “กลยุทธ์การสื่อสารอัตลักษณ์อาหารลังกาสุกะเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารสามจังหวัดชายแดนใต้” จัดทำ โดยนายรณภพ นพสุวรรณ หลักสูตรดุษฎีบัณฑิต นิเทศศาสตร์การตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เกี่ยวกับ อาหารลังกาสุกะ อันเป็นอาหารในวัฒนธรรมของอาณาจักรลังกาสุกะครอบคลุมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ปัจจุบันได้แก่ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส เรียกอาหารในพื้นที่รวมกันว่า อาหารลังกาสุกะ ประกอบไปด้วยอาหารท้องถิ่นทั้งอาหารคาว ของหวาน และเครื่องดื่ม ที่อยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน อาหารในพิธีกรรมตามหลักศาสนา หรืออาหารตามงานเทศกาลประเพณีในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีความโดดเด่นทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่หลากหลาย โดยไม่ได้แบ่งแยกอาหารตามความเชื่อ และศาสนาใดใด



        ทั้งนี้ อาณาจักรลังกาสุกะ เป็นดินแดนที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานกว่า 1900 ปี เป็นศูนย์กลางเมืองท่าและการค้าขายของคาบสมุทรแหลมมลายู ส่งผลให้มีหลากหลายของผู้คนต่างเชื้อชาติ ศาสนา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ชวา อาหรับ เปอร์เซีย โปรตุเกส อังกฤษ เป็นต้น ชนชาติเหล่านี้ทำให้ดินแดนแห่งนี้รับวัฒนธรรมด้านอาหารในมิติต่าง ๆ จากแต่ชนชาติ เช่น การเลือกใช้วัตถุดิบ เครื่องเทศ การเลือกส่วนผสมในการปรุงอาหาร ขั้นตอนการปรุงอาหาร เป็นต้น จนเกิดเป็นลักษณะอาหารที่มีลักษณะเฉพาะถิ่นของลังกาสุกะ ซึ่งปัจจุบันสันนิษฐานว่าอยู่บริเวณพื้นที่จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส

        ทำการศึกษาวิจัย และนำเอา อัตลักษณ์อาหาร และบริบทของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อนํามาใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารและวัฒนธรรม จากความหลากหลายของเชื้อชาติ ศาสนา และมรดกทางวัฒนธรรมของผู้คนที่อาศัยร่วมกันมาหลายร้อยปีในพื้นที่สังคมพหุวัฒนธรรม จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ทำให้เกิดโอกาส เกิดรายได้ จากการท่องเที่ยวของประชาชนในท้องถิ่น มีการพัฒนาการสื่อสาร กิจกรรมด้านการท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ได้แพร่หลาย นําไปสู่ภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศไทย สร้างความเจริญเติบโตทั้งในระดับท้องถิ่น ในระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ ในที่สุด