10.06.64
 
สมาคมประชาสัมพันธ์ไทย ร่วมเสวนา “เหลียวหลังแลหน้า : อนาคตภาพนิเทศศาสตร์ และภูมิทัศน์สื่อไทย” กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
         ดร.พจน์ ใจชาญสุขกิจ นายกสมาคมประชาสัมพันธ์ไทย ร่วมเป็นวิทยากร ในงานเสวนา “เหลียวหลังแลหน้า : อนาคตภาพนิเทศศาสตร์ และภูมิทัศน์สื่อไทย” จัดโดย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ศ.กิตติคุณสุกัญญา สุดบรรทัด ราชบัณฑิต, ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล ผู้อำนวยการฝ่ายเนื้อหา PCCW OTT (THAILAND) และผู้กำกับภาพยนตร์, ศ.ดร.ปาริชาติ สถาปิตานนท์ รองอธิการบดี ด้านวิชาการและการเชื่อมโยงกับสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โดยมี ผศ.ดร. ธนสิน ชุตินธรานนท์ รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย ผ่านเครือข่าย online ให้กับคณาจารย์ และนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอก คณะนิเทศศาสตร์ นำโดย รศ. ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ที่เพื่อร่วมกันเปิดมุมมองใหม่ ทางด้านนิเทศศาสตร์ ในอนาคต



         ในการเสวนา ดังกล่าว ได้มีการอภิปรายถึงความท้าทายของสื่อบุคคลในการแข่งขันปัจจุบัน และอนาคต การเตรียมความพร้อมของสถาบันอุดมศึกษา ในด้านสมรรถนะ พัฒนาสื่อบุคคล ให้พร้อมสำหรับยุคการสื่อสารภังควิวัฒน์ (Disruptive Communication) โอกาส และความท้าทายสำหรับหลักสูตรสาขาวิชาการทางด้านนิเทศศาสตร์

ดร.พจน์ ใจชาญสุขกิจ นายกสมาคมประชาสัมพันธ์ไทย ได้วิเคราะห์บริบทของพลเมือง และสังคม ปัจจุบัน / อนาคต ว่าประชากรคนรุ่นใหม่ ว่า ความคิดของพวกเขาเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ไม่ยึดติด, เกลียดความจำเจ, ชอบความเสี่ยง, ความท้าทาย, ชอบลองสิ่งใหม่ สรรหาสิ่งที่ดีขึ้นกว่าเดิม เนื้อหาหรือข้อมูลต่างๆ จะต้องสามารถตอบสนองความต้องการของประชากรได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกายหรือจิตใจ เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามาทำให้ชีวิตประจำวันสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น จนทำให้ชีวิตประจำวันโหยหาแต่สิ่งที่ตอบสนองความต้องการได้มากที่สุด ฉีกกรอบชีวิตที่เรียบง่าย กลายเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกรอบตัว ต้องการการสื่อสารที่รวดเร็วและตรงประเด็น เพราะเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าขึ้นมาก ทำให้การสื่อสารมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น ส่งผลให้ความอดทนของคนเราน้อยลง การรอคอยจึงน้อยลงตามไปด้วย บวกกับจำนวนของผู้ใช้สมาร์ทโฟน แท็ปเล็ตเพิ่มขึ้น จึงมีความต้องการในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างสะดวก รวดเร็ว องค์กรจึงต้องรู้สึกสื่อสารให้ตรงประเด็น พร้อมกับเลือกช่วงเวลาให้เหมาะสม เนื้อหา ใจความ รูปแบบการนำเสนอของการสื่อสาร ทุกรูปแบบ จะต้องตรงกลุ่มเป้าหมาย เป็นเนื้อหาที่ประชากรสนใจ รองรับการใช้งานหลายแฟลตฟอร์ม จึงจะเข้าถึงประชากรได้ ซึ่งปัจจุบันได้หันมาให้ความสนใจสื่อประเภทดิจิทัลเพิ่มขึ้น เพราะสามารถตอบสนองความต้องการได้ตรงกับไลฟ์สไตล์มากกว่า ชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่ง จึงต้องมีการปรับตัวให้พร้อมสำหรับการสื่อสารทุกประเภท ทุกช่องทาง โดยให้ความสำคัญของเนื้อหาที่ประชากรต้องการมากที่สุด

         ในส่วนของการเรียนนั้น นักศึกษาปัจจุบันต่างจากเมื่อ 10 ปีก่อนอย่างสิ้นเชิง ภายใต้สิ่งแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ที่แตกต่างกัน บทบาทของผู้สอน และสถาบันจึงต้องมีความเป็นโค้ช เพื่อสร้างผลักดันความสามารถที่โดดเด่นของบัณฑิตแต่ละคนให้มีคุณค่าและสามารถแสดงออกมาได้ อย่างชัดเจน มุ่งการสื่อสารระหว่างบุคคลเพื่อการพัฒนาภายใต้ทักษะของผู้เรียน แต่ละด้าน ที่เป็นมุมมองใหม่ ทางด้านนิเทศศาสตร์ ในอนาคต ได้แก่
  • Cross-cultural Understanding (ผสานความเข้าใจความต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์ มาใช้ให้เกิดประโยชน์)
  • Thai Values Creation (การสื่อสารและต่อยอดความเป็นไทยทั้งในระดับประเทศ และเวทีโลก)
  • Communication Skill and Problem Solving (ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เพื่อใช้ในการแก้ปัญหา สามารถรับมือกับวิกฤติได้)
  • Creativity and Innovation (ความสามารถด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรมทางด้านนิเทศศาสตร์)
  • Collaboration, Teamwork and Leadership (สร้างด้านความร่วมมือที่เหมาะสม การทำงานเป็นทีม และมีภาวะผู้นำในการขับเคลื่อนสังคม)
  • Communications, Information, and Media Literacy (ทักษะด้านการสื่อสารสารสนเทศ รู้เท่าทัน เข้าใจ ขับเคลื่อน - ผลิตสื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และสังคม)
  • Communication Career , Business and Learning Skills (ทักษะอาชีพทางด้านการสื่อสารอย่างมืออาชีพ และพัฒนาการเรียนรู้ มีความรู้ในเชิงธุรกิจ และเป็นผู้ประกอบการได้)
         ในส่วนของการพัฒนาสมรรถนะ นั้น นายกสมาคมประชาสัมพันธ์ไทย ได้ยกตัวอย่างการจัดทำสมรรถนะ ทางด้านวิชาชีพประชาสัมพันธ์ ที่ สมาคมประชาสัมพันธ์ไทย ได้ร่วมกับ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำโครงการรับรองมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพธุรกิจโฆษณาและประชาสัมพันธ์ สาขาประชาสัมพันธ์ ซึ่งได้มีการจัดทำสมรรถนะของมาตรฐานอาชีพประชาสัมพันธ์ จำนวน 54 หน่วยสมรรถนะ จากกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการประชาสัมพันธ์ 6 อาชีพ และแบ่งเป็น 14 สาขาระดับอาชีพ ทางประชาสัมพันธ์ ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ โดยมี สมาคมประชาสัมพันธ์ไทย เป็นองค์กรรับรอง เพื่อเป็นการสร้างให้เกิดความเข้มแข็งตามมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพประชาสัมพันธ์ ซึ่งได้ใช้การอ้างอิงตาม ISO/IEC 17024 มาตรฐานสากลในการรับรอง “สมรรถนะของบุคคล” ซึ่ง กว่า 70 ประเทศให้การยอมรับ และหน่วยงานทั่วโลก กว่า 500 องค์กรให้การยอมรับ