07.12.64
 
สมาคมประชาสัมพันธ์ไทย และ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ลงนามความร่วมมือ การเป็นองค์กรรับรองสมรรถนะ คุณวุฒิวิชาชีพสาขาประชาสัมพันธ์
 
          สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และ สมาคมประชาสัมพันธ์ไทย ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกัน ในการเป็น ”องค์กรรับรองที่มีหน้าที่ รับรองสมรรถนะของบุคคลให้มีมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพธุรกิจโฆษณาและประชาสัมพันธ์ สาขาประชาสัมพันธ์” โดยได้กำหนด อาชีพในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการประชาสัมพันธ์ 6 อาชีพ ได้แก่ (1) นักสื่อสารองค์กรสัมพันธ์ (2) นักสร้างสื่อประชาสัมพันธ์ (3) นักประชาสัมพันธ์ออนไลน์ (4) นักสื่อสารกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ (5) นักวิจัยและประเมินผลการประชาสัมพันธ์ และ(6) นักบริหารการประชาสัมพันธ์ เมื่อจัดคุณวุฒิแล้ว จะมี 14 ระดับคุณวุฒิ โดยมี สมาคมประชาสัมพันธ์ไทย เป็นองค์กรรับรอง เพื่อเป็นการสร้างให้เกิดความเข้มแข็งตามมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพประชาสัมพันธ์ ซึ่งได้ใช้การอ้างอิงตาม ISO/IEC 17024 มาตรฐานสากลในการรับรอง “สมรรถนะของบุคคล” ซึ่งทั่วโลก ให้การยอมรับ



          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พจน์ ใจชาญสุขกิจ นายกสมาคมประชาสัมพันธ์ไทย ได้กล่าวว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2554 มีหน้าที่ในการพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ส่งเสริมให้คนในอาชีพจัดทำมาตรฐานอาชีพ ดำเนินการรับรองบุคคลแต่ละอาชีพมีมาตรฐานตามข้อกำหนดต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ ตามกรอบความเชี่ยวชาญ ความเป็นมืออาชีพ เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็ง มีมาตรฐาน โดยในส่วนของการรับรองมาตรฐาน อ้างอิงตาม ISO/IEC 17024 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลในการรับรอง “สมรรถนะของบุคคล” ซึ่งหน่วยงานเป็นจำนวนมาก ทั่วโลก ให้ความเชื่อมั่น เป็นการยอมรับตามกรอบข้อตกลงร่วมกันขององค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องของการรับรอง ดังกล่าว รวมถึง จากความร่วมมือตามกรอบคุณวุฒิอาชีพในอาเซียน อีกด้วย

          ในส่วนของ อาชีพสาขาประชาสัมพันธ์ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) Thailand Professional Qualification Institute (Public Organization) : TPQI ได้ร่วมหารือ กับ สมาคมประชาสัมพันธ์ไทย Thailand Public Relations Association : PRTHAILAND สถาบันการศึกษา องค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากภาครัฐและเอกชน มาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2562 เพื่อวางกรอบการดำเนินการ “โครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพธุรกิจโฆษณาและประชาสัมพันธ์ สาขาประชาสัมพันธ์” ตามกระบวนการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิ โดยมี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นที่ปรึกษาจัดทำ มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพธุรกิจโฆษณาและประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะในส่วนของสาขาประชาสัมพันธ์นั้น ทั้งการประสานงานหน่วยงาน บุคลากรที่เกี่ยวข้อง การศึกษาวิจัย การค้นคว้าทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศ การกำหนดเกณฑ์มาตรฐาน การประเมิน การออกข้อสอบ แบบสัมภาษณ์ แบบปฏิบัติ การประเมินผล การจัดประชาพิเคราะห์ จนแล้วเสร็จเมื่อต้นปี พ.ศ. 2564 เพื่อเปิดให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับอาชีพดังกล่าวเข้ามารับการประเมินจากองค์กรรับรองสมรรถนะ และรับใบประกาศนียบัตรของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งดูแลสมรรถนะของอาชีพของประเทศไทย ตามระดับคุณวุฒิวิชาชีพที่ครอบคลุม (Professional Qualification included) โดยสรุป ได้แก่

          (1) นักสื่อสารองค์กรสัมพันธ์ ระดับคุณวุฒิ 3, 4, 5 และ 6 นักสื่อสารองค์กรสัมพันธ์ : ผู้ที่ทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารทั้งภายนอกและภายในองค์กร โดยใช้วิธีการประชาสัมพันธ์ สื่อสาร เผยแพร่ และสร้างการมีส่วนร่วมให้เหมาะสมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละกลุ่ม รวมถึงการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          (2) นักสร้างสื่อประชาสัมพันธ์ ระดับคุณวุฒิ 4 และ 5 นักสร้างสื่อประชาสัมพันธ์ : ผู้ที่ทำหน้าที่ออกแบบแนวคิดการสร้างสรรค์งาน ถ่ายทอดรูปแบบจากความคิดออกมาเป็นผลงานสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ที่ผู้อื่นสามารถมองเห็น รับรู้ หรือสัมผัสได้ เพื่อให้มีความเข้าใจในผลงานร่วมกัน และสร้างสรรค์สื่อที่มีคุณภาพ เพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมาย

          (3) นักประชาสัมพันธ์ออนไลน์ ระดับคุณวุฒิ 4 และ 5 นักประชาสัมพันธ์ออนไลน์ : ผู้ปฏิบัติงานสื่อสารออนไลน์ เฝ้าระวังติดตามข้อมูลประเด็นทางสังคมต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อองค์กร เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ ในการประชาสัมพันธ์ ตลอดจนสามารถออกแบบ แก้ปัญหาได้ ด้วยการใช้สื่อใหม่ได้อย่างถูกต้อง และใช้จริยธรรมในการประกอบอาชีพ

          (4) นักสื่อสารกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ ระดับคุณวุฒิ 5 และ 6 นักสื่อสารกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ : ผู้ที่สื่อสารด้วยการบูรณาการ ปรับใช้องค์ความรู้หรือนวัตกรรมในอาชีพ วิเคราะห์ กำหนดกลวิธี โดยใช้ทักษะการจัดการกลยุทธ์ตามวัตถุประสงค์ของการประชาสัมพันธ์และภาพลักษณ์เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุง แก้ไข พัฒนาศักยภาพให้ได้สูงสุด

          (5) นักวิจัยและประเมินผลการประชาสัมพันธ์ ระดับคุณวุฒิ 5 และ 6 นักวิจัยและประเมินผลการประชาสัมพันธ์ : ผู้ที่ใช้ทักษะในการวิเคราะห์ วางแผน การออกแบบแนวทางการประเมินผลทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการประชาสัมพันธ์ด้วยเกณฑ์ที่ถูกต้อง รวมถึงสามารถกำหนดโจทย์ ประเด็น ขอบเขต สร้างกระบวนการ และดำเนินการตามระเบียบวิธีวิจัย เพื่อหาเหตุผล คำตอบที่ชัดเจน

          (6) นักบริหารการประชาสัมพันธ์ ระดับคุณวุฒิ 6 และ 7 นักบริหารการประชาสัมพันธ์ : ผู้บริหารที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ และตีความ เพื่อมอบหมายตามแผนกระบวนการการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมขององค์กร ประเมินและวินิจฉัยปัญหาอย่างเป็นระบบ ปรับปรุง แก้ไข พัฒนาการประชาสัมพันธ์และสามารถแก้ปัญหาในบริบทที่มีความซับซ้อน พัฒนาองค์ความรู้เพื่อนวัตกรรมใหม่ในงานอาชีพ และเป็นแบบอย่างหรือผู้นำในการประกอบอาชีพ

          ทั้งนี้ ภายใต้บันทึกข้อตกลง ดังกล่าว สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และ สมาคมประชาสัมพันธ์ไทย จะได้ร่วมกันดำเนินการสนับสนุนการประเมินสมรรถนะ เพื่อรับรองคุณวุฒิวิชาชีพประชาสัมพันธ์ โดยจะได้เริ่มเปิดรับสมัครบุคคล เข้ารับการพิจารณาเพื่อประเมินสมรรถนะ เพื่อรับรองคุณวุฒิวิชาชีพประชาสัมพันธ์ ในสาขาวิชาชีพดังรายละเอียดข้างต้น ให้กับผู้สนใจ สำหรับรายละเอียดของอาชีพที่เปิดการรับสมัครให้เข้ารับการประเมิน รูปแบบ ขั้นตอนของการรับรองมาตรฐานให้กับผู้ที่ประกอบอาชีพทางด้านประชาสัมพันธ์ สมาคมประชาสัมพันธ์ไทยจะได้ประกาศให้ทราบในลำดับต่อไป ผู้สนใจ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สมาคมประชาสัมพันธ์ไทย เลขที่ 62 ชั้น 17 อาคารเดอะมิลเลนเนีย ห้อง 1707 ถนนหลังสวน แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โทร. 02 651 8989, e mail : prthailand.tpqi@gmail.com , www.prthailand.com