05.07.64
 
สมาคมประชาสัมพันธ์ไทย เสนอแนวทางการสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจไทย ภายใต้สถานการณ์ COVID-19
 
 
         ดร.พจน์ ใจชาญสุขกิจ นายกสมาคมประชาสัมพันธ์ไทย ได้กล่าวว่า สมาคมประชาสัมพันธ์ไทย ได้นำเสนอ บทวิเคราะห์ เพื่อเป็นแนวทางการสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจไทย ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

         หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของทีมเศรษฐกิจประเทศไทย เพื่อทดแทนจากการลาออกของทีมเดิมที่ผ่านมา แน่นอนว่าย่อมเป็นที่จับตามองถึงการทำงานของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ทั้งในด้านตัวบุคคล และผลงาน ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมมีผลกระทบต่อทิศทางของประเทศในทางตรงต่อการแก้ปัญหาเดิมที่ค้างคาอยู่ รวมถึงกับการรับมือจากสถานการณ์ COVID-19 ที่เผชิญไปพร้อมๆ กับประชากรโลก ที่ต้องมีการวางกรอบนโยบาย และการลงมือแก้ไขให้สอดคล้องกับประเทศไทย รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นทางด้านการค้า การลงทุน และภาพลักษณ์ ของประเทศ

         เป็นที่น่าแปลกใจว่า นอกจากการขับเคลื่อนโครงการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลรายบุคคลบางกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงินเยียวยา จากการที่รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท จนกระทั่งล่าสุด ได้มี พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของ COVID-19 เพิ่มเติมอีก ในวงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาทเพื่อรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 ในบรรดาข่าวคราวความเคลื่อนไหว นอกจากวิธีการ ขั้นตอนการใช้เงินกู้ ปัญหาที่พบจากขั้นตอน การร้องเรียนอันเป็นผลจากโครงการแจกเงินไปยังกลุ่มต่างๆ แล้ว นอกนั้นประชาชนไม่ค่อยได้รับทราบความเคลื่อนไหวทั้งในเชิงนโยบาย การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมต่อการแก้ไขเศรษฐกิจในภาพรวม แน่นอนว่า ทีมเศรษฐกิจอาจกำลังขับเคลื่อนและทำงานอยู่ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าเพราะเหตุใด ประชาชนจึงไม่ค่อยได้รับทราบข่าวสาร ความเคลื่อนไหวและผลงานทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลเท่าใดนัก


เปิดมุมมองสำนักข่าวต่างประเทศ เกี่ยวกับทีมเศรษฐกิจไทย


         สำนักข่าว Nikkei และสถานีโทรทัศน์ NHK สื่อดังจากญี่ปุ่น ได้แสดงความคิดเห็น ที่ระบุว่า จากการปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ ของรัฐบาลไทยนั้น อาจส่งผลต่อโครงการสำคัญที่รัฐบาลกำลังผลักดัน อาทิ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC : Eastern Economic Corridor ) รวมทั้ง ยุทธศาสตร์ CPTPP หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP : Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) ที่ญี่ปุ่นให้การสนับสนุน เพื่อถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้

Photo by T. Al Nakib from FreeImages

         ในส่วนของประเด็นที่เกี่ยวข้องทางการเมืองนั้น สถานีโทรทัศน์ NHK ยังวิจารณ์เกี่ยวกับทีมงานรัฐบาลที่มีทหารเข้ามาจำนวนไม่น้อย หรือการทำให้ทหารกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง ยิ่งทำให้บทบาทของทหารต่อการเมืองของไทยมีความชัดเจนขึ้น การปรับทีมเศรษฐกิจ ของรัฐครั้งนี้ การใช้เหตุผลทางการเมืองอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เพราะย่อมส่งผลต่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลต้องคำนึงถึงทั้งเศรษฐกิจภายในประเทศ และ เศรษฐกิจไทยในเวทีนานาชาติ หรือในระดับที่เป็นระหว่างประเทศ ที่ต้องอาศัยความเชื่อมั่นควบคู่กันไปด้วย เพราะหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบาย ในการสร้างความเชื่อมั่นต่อ นักลงทุนญี่ปุ่น นักลงทุนจีน รวมถึงอีกหลายภูมิภาค ไว้ค่อนข้างมาก ดังนั้น การสรรหาบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ “ทูตเศรษฐกิจ” สานต่อความสัมพันธ์เดิม ทำงานร่วมกับทีมเศรษฐกิจ รวมถึงการวางตัวหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก ของรัฐบาลปัจจุบัน


COVID-19 พ่นพิษเศรษฐกิจไทย สู่ภาวะถดถอย


        จากการประมาณการเดิม เศรษฐกิจไทยปี 2564 ก่อนการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ตัวเลขเศรษฐกิจของหน่วยงานทุกแห่ง ต่างให้ความเห็นที่ใกล้เคียงกัน อาทิ กระทรวงการคลัง ประมาณการ ที่จะขยายตัวติดลบ 8.5% ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงคาดการณ์ว่าติดลบ 9.4% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะติดลบ 8.1% คณะกรรมการ กกร. (คณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย) คาดว่าติดลบ 7-9% ทั้งนี้แน่นอนว่า เกิดจากผลกระทบจากโควิด-19 เป็นประเด็นสำคัญ และแน่นอนว่า หลังจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในต้นปี 2564 ย่อมจะทำให้ตัวเลขการประเมินมีค่าติดลบมากไปกว่าเดิมอีกแน่นอน จึงเป็นภารกิจของทีมเศรษฐกิจ และรัฐบาลที่ต้องเร่งหาแนวทาง กำหนดมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นการเร่งด่วน และมีผลงานที่เข้มข้นขึ้น

ภาพโดย 41330 จาก Pixabay

         แน่นอนว่า การตั้งทีมเศรษฐกิจมาจากรัฐมนตรี มาจากกระทรวงต่างๆ ที่นอกจากจะมาจากพรรคการเมืองที่มีนโยบายแตกต่างกันแล้ว ความรู้ ความเชี่ยวชาญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ย่อมไม่เป็นสิ่งยืนยันได้ว่ามีคุณสมบัติเพียงพอหรือไม่ ทีมเศรษฐกิจจากกระทรวงต่างๆ ที่แบ่งตามโควต้าพรรคการเมืองอย่างเห็นได้ชัด เป็นทฤษฏี ที่ไม่สามารถใช้งานได้ เพราะไม่ได้เป็นการตอบโจทย์ถึงภาพรวมการบริหารเศรษฐกิจ ในยามที่ประเทศ และโลกกำลังเผชิญกับปัญหา วิกฤต COVID-19 ต้องใช้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ มีฝีมือ มาเยียวยา ให้คลี่คลาย ลดความเสี่ยงที่จะเกิดต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งประสิทธิภาพรายบุคคล รวมถึงความเป็นเอกภาพ ในการกำหนดนโยบายและมาตรการที่จะรับมือต่อบรรดาผลกระทบ ได้อย่างเพียงพอ


แนวทางการสื่อสารความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจไทย ภายใต้สถานการณ์ COVID-19


1

การมีบุคคลที่น่าเชื่อถือ มีความรู้ความสามารถ เป็นที่ยอมรับ ประเด็นด้านความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจนั้น จำเป็นต้อง เริ่มต้นจาก การสร้างเชื่อมั่นของบุคคล หรือทีมงานก่อน ที่ต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ เป็นที่ยอมรับ

2

การมีกลยุทธ์การสื่อสารเชิงรุกที่ทันสมัย และสม่ำเสมอ  มีเครื่องมือ ช่องทาง วิธีการที่เข้าถึงสำหรับสร้างความเข้าใจกับประชาชนทั่วไปได้ทุกกลุ่มแบบเชิงรุก รวมถึงผู้ประกอบการ ด้วยเนื้อหาที่ประชาชนรับรู้ได้ง่าย ตรงใจและสัมผัสได้

3

การสื่อสารนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจน การแนวทางสำหรับการเร่งสร้างเสถียรภาพทางการเงิน ในภาพรวม ไปพร้อมกับการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยราชการอย่างเป็นระบบ รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทั้งการสร้างความสัมพันธ์ โอกาส ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม

4

การนำเสนอ วิธีการการเยียวยาทางด้านอุตสาหกรรม และการส่งเสริมการลงทุน และอื่นๆ ที่สอดคล้องกับมาตรการทางด้านสาธารณสุข ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

5

การส่งเสริมทางด้านการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ การประกอบธุรกิจ การลงทุน การฟื้นฟูกิจการทั้งในขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ที่รวดเร็ว ทันสถานการณ์

6

การกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจการเกษตร การสร้างโอกาสทางด้านเกษตรกรรม เป็นนวัตกรรมทางการเกษตร และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่เข้าถึงง่าย

7

การเผยแพร่แนวทางการพัฒนา ฟื้นฟู เยียวยา เสริมศักยภาพธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และนานาชาติ

8

การสำรวจ หาแนวทาง ชี้แจง การเยียวยาภาคประชาชน การแก้ไขปัญหาต่างๆ อาทิ การว่างงาน แรงงาน แรงงานคุณภาพ การสร้างรายได้   การเพิ่มทักษะและการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

9

การนำเสนอรูปแบบการพัฒนาโครงสร้างชุมชนให้แข็งแรง ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนและการส่งเสริมการตลาด

10

การเผยแพร่ข้อมูลที่สนับสนุนต่อการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงิน ด้านคุณภาพชีวิตของประชากร ความพร้อมแหล่งการค้าและการลงทุน ความสามารถในการแข่งขันประเทศอื่น    ที่มีแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาวมารองรับ  

11

การกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาเร่งด่วนที่ทันท่วงที  ความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจเช่น ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ  การคุ้มครองผู้บริโภค ควบคุมราคาสินค้า และการช่วยเหลือบรรเทาค่าใช้จ่ายในการบริโภค คุณภาพชีวิตของประชาชนภายใต้สถานการณ์ COVID-19

12

การแสดงให้เห็นถึงบริหารงบประมาณแผ่นดินที่สุจริตโปร่งใส รอบคอบ เช่น แผนการหารายได้ การใช้จ่ายที่จำเป็น มีเหตุผล แนวทางการประหยัด ลดและการชะลอการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่จำเป็น เป็นต้น


Photo by Warisara Niemwongse from FreeImages


ประเทศไทยกับหลากปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจ



         ต้องไม่ลืมว่านอกจากปัญหาที่กล่าวมาแล้ว ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องหลายประการที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 และต้องนำมาพิจารณา อาทิ การให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้มากที่สุดและเร็วที่สุด ซึ่งเหตุผลนี้ จะนำมาสู่การเปิดประเทศได้เร็วขึ้น ควบคู่ไปกับการควบคุมผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาของฝุ่น (PM 2.5) เกินค่ามาตรฐาน ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

         ในขณะที่ ในการเรียกความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจนั้น การกระตุ้นการบริโภค จำเป็นต้องอัดฉีดเม็ดเงิน เพื่อเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว และควรเร่งให้มีการติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง มีการส่งเสริมการลงทุนด้านปัจจัยพื้นฐานทางสาธารณูปโภคที่ส่งผลทางเศรษฐกิจ การลงทุนทางด้านการวิจัย การวางระบบสาธารณสุข การชดเชยรายได้ มาตรการด้านภาษี นโยบายสินเชื่อ การให้ความช่วยเหลือการฟื้นฟูต่อผู้ได้รับผลกระทบในหลายมิติ ย่อมเป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจโดยรวม อีกทั้ง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ สามารถเข้าสู่สภาวะปกติได้ในเร็ววัน